สุราษฎร์ธานี เป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานว่าในพุทธศตวรรษที่ 13 รวมอยู่กับอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรนี้เสื่อมลง จึงแยกออกเป็น 3 เมือง คือ เมืองไชยา เมืองท่าทอง และ เมืองคีรีรัฐ ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ย้ายเมืองท่าทอง มาตั้งที่บ้านดอน และยกฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า "เมืองกาจนดิษฐ์ " ครั้นเมื่อมีการปกครอง แบบมณฑล ได้รวมเมืองทั้งสามเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองไชยา ต่อมา พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 โปรดฯให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา มาเป็นเมืองสุราษฎร์ธานี แปลว่า เมืองแห่งคนดี
อาณาเขตและการปกครอง สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดของภาคใต้ ประมาณ 12,891 ตารางกิโลเมตร มีเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ จดจังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง ทิศใต้ จดจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกระบี่ ทิศตะวันออก จดอ่าวไทย และจังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันตก จดจังหวัดพังงา และจังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อําเภอ 1 กิ่งอําเภอ คือ อําเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อําเภอพุนพิน อําเภอคีรีรัฐนิยม อําเภอพนม อําเภอกาจนดิษฐ์ อําเภอเกาะสมุย อําเภอดอนสัก อําเภอไชยา อําเภอท่าชนะ อําเภอท่าฉาง อําเภอบ้านนาสาร อําเภอพระแสง อําเภอเวียงสระ อําเภอเคียนซา อําเภอบ้านตาขุน อําเภอเกาะพะงัน อําเภอบ้านนาเดิม อําเภอชัยบุรี
การเดินทาง ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 4 โดยตลอดผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 41 ถึงสุราษฎร์ธานี รวมระยะทางประมาณ 644 กิโลเมตร
ทางรถโดยสารประจําทาง บริษัทขนส่ง จํากัด เปิดบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานีทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง รถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี รายละเอียดติดต่อ โทร. 435-1200, 434-7192 หรือบริษัทเอกชน ติดต่อโสภณทัวร์ โทร. 435-5023 กรุงสยาม โทร. 435-5024 นอกจากนี้ยังมีบริการรถโดยสารปรับอากาศระหว่างกรุงเทพฯ เกาะสมุย อีกด้วย
ทางรถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ มีบริการเดินรถทุกวัน ระยะทาง 650 กิโลเมตร ผู้โดยสารต้องไปลงที่สถานีรถไฟพุนพิน แล้วต่อรถประจําทางหรือแท็กซี่ เข้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทาง 13 กม. ติดต่อขอทราบรายละเอียดการเดินทางได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020 สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน โทร. (077) 311213
ทางอากาศ การบินไทยมีบริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี ทุกวัน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดและสํารองที่นั่งได้ที่ โทร. 280-0060, 628-2000 หรือที่สํานักงานสุราษฎร์ธานีโทร.(077)272610,273710 นอกจากนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์เปิดบริการเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ เกาะสมุย ทุกวัน ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 10 นาที สอบถาม รายละเอียดและสํารองที่นั่งได้ที่ โทร. 229-3456 หรือ (077) 425010,425029-30 (เกาะสมุย)
การเดินทางจากสุราษฎร์ธานีไปจังหวัดใกล้เคียง ทางรถยนต์ จากสุราษฎร์ธานีมีรถโดยสารปรับอากาศไป จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ กระบี่ ภูเก็ต และรถโดยสารธรรมดาไปจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดทางภาคใต้ รายละเอียดติดต่อที่สถานีรถโดยสาร ถ.สุราษฎร์ธานี-พุนพิน โทร. (077) 200032-3 ทางรถไฟ จากสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี อ.พุนพิน มีรถไฟไปจังหวัดนราธิวาส ตรัง นครศรีธรรมราช ยะลา ไชยา ชุมพร หัวหินรายละเอียดติดต่อสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีอ.พุนพินโทร.(077)311213
ประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว จัดขึ้นในวันออกพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) แต่ละวัดจะทําบุษบกหรือพนมพระ ตกแต่งอย่างสวยงาม ตรงกลางบุษบกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุมบาตร์ ตามคติทางพุทธศาสนาแล้วให้ประชาชนลากไป เมื่อเสร็จพิธีลากพระ (ทั้งบนบกและในน้ำ)จะนําพรไปทําความสะอาดแล้วมีพิธีสงฆ์สมโภชพระลากในตอนค่ำ โดยจะมีพระสงฆ์มาเทศน์เกี่ยวกับการเสด็จของพระพุทธเจ้า จากดาวดึงส์ลงสู่โลกมนุษย์ ส่วนการทอดผ้าป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะแตกต่างไปจากที่อื่นๆ คือ เป็นการทอดผ้าป่าหน้าบ้าน โดยจะเริ่มงานตั้งแต่ 1 นาฬิกาของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 สําหรับพุมผ้าป่าจะตกแต่งอิงเรื่องราวพุทธประวัติและจะทําพิธีถวายพุมผ้าป่าในตอนเช้าของแรม 1 ค่ำ เดือน 11
งานวันเงาะโรงเรียน จัดขึ้นประมาณต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อนําผลิตผลเงาะโรงเรียนและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ มาแสดงและจําหน่ายแก่ผู้สนใจ
ไข่เค็มไชยา เป็นไขเค็มที่มีชื่อเสียงกล่าวขวัญกันทั่วไป การทําไข่เค็มไชยา ใช้ไข่เป็ดจากอําเภอไชยา ซึ่งมีไข่แดงมากและไม่คาวเหมือนไข่เป็ดทั่วไป จากนั้นเอาดินจากจอมปลวกมาตําให้ละเอียด ร่อนเอาเฉพาะที่ละเอียด แยกเอากรวด ทราย ออกให้หมดคลุมด้วยน้ำและเกลือให้ดินค่อนข้างเหนียว แล้วเอาดินนี้หุ้มไข่เป็ด หลังจากนั้นนําไปคลุมกับขี้เถาแกลบ เป็นอันเสร็จกระบวนการทําไข่เค็มไชยา แล้วจึงนํามาบรรจุหีบห่อเพื่อจําหน่าย มีฉลากบอกระยะเวลาไว้ว่าเมื่อใดเหมาะสําหรับทอดไข่ดาว เมื่อใดเหมาะสําหรับต้ม
ผ้าไหมพุมเรียง การทอผ้าไหมพุมเรียงเป็นงานหัตถกรรมที่ทํากันในหมู่บ้านไทยมุสลิม ซึ่งเข้าใจว่าแต่เดิมคงเป็นพวกแขกที่อพยพ หรือถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรี พร้อมๆ กับช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช บ้างก็สันนิษฐานว่า ไทยอิสลามที่พุมเรียงอาจจะเป็นชาวปัตตานี เพราะอารยธรรมสูงกว่าที่อื่น แล้วมาอาศัยอยู่ที่ตําบลพุมเรียง การทอผ้าพุมเรียง ชาวบ้านไม่ได้เลี้ยงไหมเอง ไหมที่ใช้ทอเป็นไหมจากญี่ปุน และสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ โดยนิยมทอผ้าด้วยกี่กระตุก ลวดลายต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นของชาวบ้านพุมเรียง โดยเฉพาะในปัจจุบัน มี 5 ลาย ได้แก่ ลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลาบดอกโคม ลายนพเก้า และลายยกเบ็ด
ขนมจั้ง ขนมจั้งนิยมทํากันมากในอําเภอไชยา เครื่องปรุงขนมชนิดนี้ ประกอบด้วยข้าวเหนียว น้ำ และน้ำด่าง โดยนําข้าวสารเหนียวแช่น้ำด่างประมาณ 3-5 ชั่วโมง ต่อจากนั้น นําข้าวสารเหนียวมาห่อด้วยใบไผ่แนะ ห่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว นําจั้งไปต้มจนกว่าจะสุก ก็จะได้จั้งตามที่ต้องการ ส่วนใหญ่ นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อม หรือน้ำกะทิก็ได้
หมวกพุมเรียง เป็นงานหัตถกรรมที่ชาวพุมเรียงทําสืบต่อกันมาเป็นเวลานานไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเริ่มทํากันมาตั้งแต่สมัยใด รู้แต่ว่าทํากันมากในกลุ่มของชาวพุทธ ซึ่งอยู่กันคนละฝั่งกับชาวไทยมุสลิมในตําบลพุมเรียง อําเภอไชยา การทําหมวกพุมเรียงทําจากวัสดุหลาย อย่างด้วยกันคือ ปอแก้ว ใบลาน หรือใบตาล ลักษณะของหมวกพุมเรียงที่แปลกไปจากหมวกสานของที่อื่นคือ การสานจะเป็นลักษณะเส้นยาวก่อนแล้วจึงนํามาเย็บเป็นรูปทรงหมวกภายหลัง ซึ่งหมวกลักษณะนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า หมวกรานี
หอยขาวพุมเรียง เป็นอาหารทะเลที่มีชื่อเสียงของอําเภอไชยา และสามารถหาบริโภคได้เฉพาะที่พุมเรียงเท่านั้น
หอยนางรม หอยนางรมสุราษฎร์ธานีเป็นที่รู้จักกัน อย่างแพรหลายในหมู่นักบริโภคว่าเป็นอาหารทะเลที่รสชาติขึ้นชื่อ คุณสมบัติที่สร้างคุณค่าหอยนางรมคือเนื้อในขาวสะอาดรสออกหวาน ไม่มีกลิ่นคาว มีคุณค่าทางอาหารสูง หอยนางรมเริ่มเพาะเลี้ยง ประมาณปี 2504 ทดลองเลี้ยงที่แหลมซุย อําเภอไชยา ต่อมาได้เพาะเลี้ยงที่บริเวณปากคลองท่าทอง และปากคลองกะแดะ อําเภอกาจนดิษฐ์ หอยนางรมมี 2 ชนิดคือ ชนิดพันธุ์เล็ก เรียกว่า "หอยเจาะ" ชนิดพันธุ์ใหญ่ เรียกว่าหอยตะโกรม ลักษณะเป็นหอยมี 2 ฝา พบทั่วไปบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง หอยนางรม จะออกวางไข่ตลอดปี แต่จะพบมากในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน หอยนางรมจะวางไข่ครั้งหนึ่งประมาณ 1-9 ล้านฟอง
เงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และของประเทศ เป็นเงาะที่มีรสชาติหวาน และกรอบ ปลูกกันมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลมีลักษณะโตเปลือกบางแม้สุกจัดปลายเส้นขนยังมีสีเขียวลักษณะต้นเป็นพุ่มไม่สูง
ขนมจีน เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของสุราษฎร์ธานีอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งหารับประทานได้ง่ายบริเวณตลาดวัดไทร ในตอนกลางคืน
ขนมจิ้นแด้ เป็นขนมที่มีรสชาติอร่อย หาซื้อได้ง่ายบริเวณตลาดวัดไทรในช่วงตอนกลางคืน
สะตอ เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยเฉพาะที่อําเภอคีรีรัฐนิคม ซึ่งจะมีชุกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม